Windows Loader Download
ธ สถิตในดวงใจ นิรันดร์: โครงการแกล้งดิน

  Oct 2, 2017   eyeicon  1437 view   Madame

ครั้งเมื่อปี พ.ศ. 2524 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานและทรงเยี่ยมเยียนราษฎรในพื้นที่แถบจังหวัดนราธิวาส และ จังหวัดใกล้เคียง ทรงพบว่าดินในพื้นที่ดังกล่าวเป็นดินพรุเนื่องจากมีน้ำขังอยู่ตลอดปี ส่งผลให้ดินในบริเวณพื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นดินเปรี้ยวจัด ทำให้ราษฎรเดือดร้อน เพราะขาดแคลนพื้นที่ทำกิน จึงมีพระราชดำริให้ศูนย์ศึกษาพัฒนาพิกุลทองฯ ดำเนินการศึกษา และ พิจารณาหาแนวทางในการปรับปรุงดินเปรี้ยวเพื่อให้ราษฎรได้ใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้

 

โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชทานพระราชดำรัสไว้ ณ วันที่ 15 กันยายน 2527 ดังนี้ "...ให้มีการทดลองทำดินให้เปรี้ยวจัด โดยการระบายน้ำให้แห้งและศึกษาวิธีการแก้ดินเปรี้ยว เพื่อนำผลไปแก้ปัญหาดินเปรี้ยวให้แก่ราษฎรที่มีปัญหาในเรื่องนี้ในเขตจังหวัดนราธิวาส โดยให้ทำโครงการศึกษาทดลองในกำหนด 2 ปี และพืชที่ทำการทดลองปลูกควรเป็นข้าว..." 

 

 

ทำไมดินถึงเปรี้ยว

เนื่องจากดินในพื้นที่ดังกล่าวเป็นดินที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "ดินพรุ" หรือดินที่มีลักษณะ "น้ำขัง" โดยเกษตรกรส่วนใหญ่จะนิยมระบายน้ำจนเกลี้ยงก่อนทำการเกษตร และดินในพื้นที่ดังกล่าวมีอินทรียวัตถุจำพวก 'รากพืช' เน่าเปื่อยอยู่ด้านบน และลึกลงไปเป็นดินเลนสีเทาปนน้ำเงินซึ่งลักษณะดังกล่าวนี้บ่งบอกถึงดินที่มีกำมะถันปะปนอยู่มาก ดังนั้นเมื่อเกษตรกรระบายน้ำออกจน 'ดินแห้ง' กรดกำมะถันจะทำปฏิกิริยากับออกซิเจนทำให้ดินกลายเป็นดินเปรี้ยวจัด และเป็นอันตรายต่อพืชที่ปลูก

 

 

แกล้งดินอย่างไร

แนวพระราชดำริ “การแกล้งดินให้เปรี้ยว” ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชนั้นทรงให้เลียนแบบสภาพธรรมชาติของพื้นที่ในภาคใต้ แต่ร่นระยะเวลาหน้าแล้งให้สั้นลงกว่าเดิม ซึ่งโดยปกติแล้วพื้นที่ภาคใต้จะมีฤดูแล้ง 4 เดือน และ ฤดูฝน 8 เดือน โดยการร่นระยะเวลานั้นเป็นการปล่อยให้ดินแห้ง 1 เดือนและมีน้ำขังให้ดินเปียกยาวนานถึง 2 เดือน สลับกันไป 4 รอบ ต่อ 1 ปี เสมือนมีฤดูฝนและฤดูแล้งเกิดขึ้นจริง โดยกรรมวิธีดังกล่าวจะเป็นการเร่งปฏิกิริยาทางเคมีของดิน ทำให้ดินเป็นกรดถึงขีดสุด จากนั้นจึงหาวิธีการปรับปรุงดินให้ราษฎรสามารถเพาะปลูกได้อีกครั้ง

 

แกล้งดินจนเปรี้ยวแล้วทำอย่างไร ? 

จากการทดลองทำให้พบว่ามีแนวทางการแก้ดินเปรี้ยว ถึง 3 วิธีด้วยกัน ได้แก่:

 

วิธีที่หนึ่ง

ควบคุมระดับระดับน้ำใต้ดินให้อยู่เหนือชั้นดินที่มีสารไฟไรท์ปะปนอยู่ เพื่อป้องกันมิให้สารไพไรท์ถูกออกซิไดซ์กลายเป็นกรดกำมะถัน

 

วิธีที่สอง

ปรับปรุงดินตามสภาพและความเหมาะสมของดิน ซึ่งมี 3 วิธีด้วยกัน

1. ใช้น้ำจืดชะล้างกรดจากดินโดยตรงแต่จะใช้เวลาค่อนข้างนาน

2. ใช้ปูนมาร์ล ปูนฝุ่นหรือหินปูนผสมคลุกเคล้าหน้าดิน โดยปริมาณของปูนขึ้นอยู่กับความรุนแรงกรดในดิน

3. ใช้ปูนควบคู่กับน้ำชะล้างดินจะเป็นวิธีที่สมบูรณ์ที่สุด เหมาะสำหรับพื้นที่ทิ้งร้างเป็นเวลานานและมีค่าความเป็นกรดสูง

 

วิธีที่สาม

ปรับสภาพพื้นที่ของผิวหน้าดินมีอยู่ 2 วิธีด้วยกันคือ

1. ปรับระดับผิวหน้าดินให้ลาดเอียงเพื่อระบายน้ำสู่คลอง 

2. ยกร่องปลูกพืชสำหรับพืชผักผลไม้ จะให้ได้ผลดีต้องมีแหล่งน้ำชลประทานที่สามารถขังและถ่ายเทน้ำได้ หากเป็นพื้นที่น้ำท่วมบ่อยครั้งไม่ควรทำ ถ้าจำเป็นต้องทำควรยกร่องเตี้ยและปลูกพืชล้มลุกเท่านั้น

 

 

โดย 'โครงการแกล้งดิน' มิได้หยุดการพัฒนาไว้แต่เพียงเท่านั้น หากยังขยายผลไปยังพืชต่าง ๆ ที่มีความทนทานต่อดินเปรี้ยวรวมไปถึงการทดลองเพาะพันธ์ปลาต่าง ๆ ที่ทนต่อน้ำเปรี้ยวได้ด้วย

 

ด้วยพระปรีชาสามารถทางด้านนวัตกรรมของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทำให้ราษฎรในหลายพื้นที่ที่ประสบปัญหาดินเปรี้ยวในพื้นที่ของตนได้กลับมามีพื้นที่เพาะพันธ์พืชผักสวนครัวด้วยตัวเองได้อีกครั้ง กล่าวได้ว่า "โครงการแกล้งดิน" เป็นโครงการที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับราษฎรอย่างแท้จริงเพราะความจริงแล้วประเทศไทยมีพื้นที่เพียง 50 เปอร์เซนต์เท่านั้นที่เหมาะกับการทำเกษตร ในขณะที่ 27 เปอร์เซนต์เป็นภูเขาสูง ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน และ 3 เปอร์เซนต์เป็นป่าชายเลนที่ถูกรักษาสภาพไว้เป็นแนวกันชน และ 20 เปอร์เวนต์ที่เหลือ เป็นพื้นที่ดินมีปัญหาต่าง ๆ เช่น ดินเปรี้ยวเป็นต้น

 

Credit - km.rdpb.go. , oknation , tcdc

 

 

Madame

Madame


Madame

Madame

จะสวยแค่ไหน ก็ไม่เท่าสวย “STRONG” ค่ะ เกิดเป็นหญิง ต้องเก่ง ต้องเก๋ ไปพร้อมๆ กัน มาร่วมค้นหาความเป็นผู้หญิงที่ทั้งสวย เก่ง และ สุขภาพดี ในตัวคุณไปพร้อมกับบทความดีๆ ในกล่องที่แสนอบอุ่นใบนี้ของเรานะคะ รับรองว่าจะไม่พลาดอรรถรสทุกแง่มุมของผู้หญิงแน่นอนค่ะ